การกำกับดูแลกิจการ

บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี บริษัทฯ จึงได้กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการ (Corporate Governance Policy) เพื่อให้บริษัทฯ มีระบบการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นพื้นฐานของการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยยึดมั่นดำเนินธุรกิจด้วยคุณธรรมและจริยธรรม ด้วยนโยบายการเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรกับลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนและสังคม ให้มีพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจและเติบโตควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

ภาพรวมนโยบาย และแนวปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการ

คณะกรรมการบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะรักษาไว้ซึ่งหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ คณะกรรมการบริษัทฯ เชื่อว่าการกำกับดูแลกิจการจะช่วยสร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน คงไว้ซึ่งการบริหารที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ มีขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมีจริยธรรมภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เพิ่มมูลค่าและผลตอบแทนสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ของบริษัทฯ ในระยะยาวอย่างยั่งยืนตลอดจนดำรงไว้ซึ่งความน่าเชื่อถือ และสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นคณะกรรมการบริษัท จึงได้พิจารณาและทบทวนปรับปรุงนโยบายตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 ที่สอดคล้องกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของสำนักงาน กลต. และ ตลท. ซึ่งอ้างอิงตามนิยาม “Corporate Governance” ของ G20/OECD ประกอบด้วยสาระสำคัญ 8 หมวด ดังนี้

  1. 1. ตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ในฐานะผู้นำองค์กรที่สร้างคุณค่าให้กิจการอย่างยั่งยืน
  2. 2. กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักของกิจการที่เป็นไปเพื่อความยั่งยืน
  3. 3. เสริมสร้างคณะกรรมการที่เอื้อต่อการบรรลุผล
  4. 4. สรรหาและพัฒนาผู้บริหารระดับสูง และบริหารบุคลากร
  5. 5. ส่งเสริมนวัตกรรมและประกอบธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ
  6. 6. ดูแลให้มีระบบการบริหารความเสี่ยงและการควบคุมภายในที่เหมาะสม
  7. 7. รักษาความน่าเชื่อถือทางการเงินและการเปิดเผยข้อมูล
  8. 8. สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการสื่อสารกับผู้ถือหุ้น

เพื่อเป็นหลักปฏิบัติให้คณะกรรมการบริษัท นำไปปรับใช้ในการกำกับดูแลกิจการให้มีผลประกอบการที่ดีในระยะยาวและมีความน่าเชื่อถือสำหรับผู้ถือหุ้น เพื่อประโยชน์ในการสร้างคุณค่าทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในปี 2566 คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ ได้มีการประชุมทั้งสิ้น 2 ครั้ง โดยเป็นผู้พิจารณา และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อให้ทางคณะกรรมการได้พิจารณา และทบทวนการนำหลักปฏิบัติตาม CG Code ไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับบริบททางธุรกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยกรรมการกำกับดูแลกิจการทุกท่านได้เข้าร่วมประชุม และปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในกฎบัตรและรายงานผลการประชุมต่อคณะกรรมการ บริษัทฯ โดยมีสาระสำคัญของการปฏิบัติหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. พิจารณาทบทวนกฎบัตรคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ
  2. พิจารณาทบทวนนโยบายการกำกับดูแลกิจการ
  3. พิจารณาทบทวนนโยบายการจัดการด้านความยั่งยืนระดับองค์กร
  4. พิจารณาทบทวนนโยบายนโยบายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
  5. ดูแลให้องค์กรมีการดำเนินงานที่โปร่งใส และเปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และคณะกรรมการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของการนำ CG Code ไปปรับใช้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และอาจมีการปรับใช้ในระหว่างปีอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่สำคัญของนโยบาย แนวปฏิบัติ และระบบการกำกับดูแลกิจการในปี 2566

คณะกรรมการบริษัทฯ มีการทบทวนหลักปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ เป็นประจำทุกปี รวมถึงติดตามพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการ และแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อวิเคราะห์และนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ทั้งนี้ พัฒนาการที่สำคัญในปี 2566 มีดังนี้

  • บริษัทฯ ได้รับการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 (AGM) โดยได้รับคะแนนเต็ม 100 คะแนน เป็นปีที่สามติดต่อกันจากสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย

  • บริษัทฯ ได้รับคะแนนการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ 5 ดาว “ดีเลิศ” (Excellent) ซึ่งได้ในโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (CGR) ประจำปี 2566 เป็นปีที่สามติดต่อกัน จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

  • บริษัทฯ ได้รับผลการประเมิน SET ESG Ratings 2566 ระดับ A หรือชื่อเดิม Thailand Sustainability Investment (THSI) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ซึ่งการประเมินนี้จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย ITEL เป็น 1 ใน 193 บริษัทจดทะเบียนฯ ที่ผ่านการประเมินหลักทรัพย์จดทะเบียน ในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นพัฒนาการบริหารจัดการธุรกิจให้เติบโตตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance)



  • จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตามแนวทางของหน่วยงานภาครัฐกำหนด โดยบริษัทฯ ได้จัดให้มีการประชุมแบบ Hybrid Meeting (Physical และ E-AGM) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประชุมทั้งในรูปแบบปกติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ถือหุ้นในการเข้าร่วมประชุม

  • จัดทำแนวปฏิบัติการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้การดำเนินการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ในช่วงแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายกำหนด

  • ทบทวนการนำหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับบริษัทจดทะเบียน ปี 2560 มาปรับใช้ในการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ รวมถึงกำหนดแนวปฏิบัติเพิ่มเติมที่บริษัทควรจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ของบริษัท

  • จัดให้มีการประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริษัทฯ

  1. การปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักการ CG Code ปี 2560

    ในปี 2566 คณะกรรมการได้พิจารณาทบทวน และนำหลักปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียน CG Code ปี 2560 ไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับธุรกิจของบริษัทแล้วเป็นส่วนใหญ่ สรุปประเด็นที่ยังไม่ได้ปฏิบัติได้มีการชี้แจงเหตุผลไว้เป็นส่วนหนึ่งของมติคณะกรรมการแล้ว ในเรื่องต่อไปนี้

หลักการ/แนวปฏิบัติที่ดีตาม CG Code เหตุผล/มาตรการของบริษัท
1. คณะกรรมการบริษัท ควรประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นอิสระมากกว่า 50% คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการอิสระไม่ถึง 50% ของคณะกรรมการทั้งคณะ ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่ากรรมการอิสระแต่ละคน เป็นผู้ที่มีประสบการณ์มีความสามารถ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ เหมาะสมกับขนาดองค์กรแล้ว

ทั้งนี้ในรอบปี 2566 ที่ผ่านมา ไม่มีกรณีการกระทำผิดด้านการทุจริต หรือกระทำความผิดจริยธรรมแต่อย่างใด และไม่มีกรณีที่กรรมการไม่เป็นผู้บริหารลาออก อันเนื่องจากประเด็นเรื่องการกำกับดูแลกิจการของบริษัทฯ อีกทั้งไม่มีกรณีเกี่ยวกับชื่อเสียงในทางลบของบริษัทฯ

  1. โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการ

    โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการของบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย คณะกรรมการต่าง ๆ ดังนี้

    1. คณะกรรมการบริษัท

    2. คณะกรรมการชุดย่อย จำนวน 4 คณะ ได้แก่

      1. คณะกรรมการตรวจสอบ
      2. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
      3. คณะกรรมการสรรหา และกำหนดค่าตอบแทน
      4. คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ
    3. คณะกรรมการบริหาร