สารจากประธานกรรมการ

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา

ประธานกรรมการ

เรียน ท่านผู้ถือหุ้น

อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม เร่งปรับตัวฉับไว รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน

ในปี 2566 ประเทศไทยและทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอันมีนัยยะสำคัญต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น สงครามรัฐเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้ออย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อภาพรวมต้นทุนพลังงานเพิ่มสูงขึ้น การประกาศปิดตัวลงของธนาคารซิลิคอนวัลเลย์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความสําเร็จอุตสาหกรรมการให้บริการทางการเงิน และการธนาคารแก่สตาร์ตอัป ในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2566การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 และมีพระบรมราชโองการเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566 และสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2566 อันส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจของไทยเริ่มมีการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นบ้าง หากเทียบกับปี 2566 โดยในปี 2566 นั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ 3.8% ต่อปี ปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยคาดว่า ในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 21.5 ล้านคน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) ก็ยังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มกำลังในการพัฒนาการให้บริการให้มีคุณภาพสูงสุดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกิจกรรมด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และความต้องการขององค์กรที่จะเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อทำให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปได้ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้วยโครงข่ายใยแก้วนำแสงที่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการกว่า 75 จังหวัด ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นทางรถไฟและเส้นทางถนนรวมทั้งเคเบิลใยแก้วนำสูงที่อยู่ทั้งบนเสาไฟฟ้าบนดิน และท่อร้อยสายใต้ดินทั่วประเทศนั้น บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายในการผลักดันบริการเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าองค์กร ทำให้บริษัทฯ สามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมและเพิ่มฐานลูกค้าใหม่เข้ามาใช้บริการได้เป็น 977 ลูกค้าในปัจจุบัน อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้จัดสรรทีมงานและบริการเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อให้บริการกับผู้ใช้บริการในพื้นที่ห่างไกลผ่านการให้บริการในโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) และโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญให้ผู้ใช้บริการทุกพื้นที่เข้าถึงกิจกรรมด้านดิจิทัลที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันได้ นอกเหนือจากการเติบโตในธุรกิจหลักแล้วนั้น บริษัทฯยังมุ่งพัฒนาเรื่องการใช้งานพลังงานสะอาดทั้งภายในบริษัทฯ เอง และรวมถึงส่งผ่านบริการดังกล่าวไปยังกลุ่มลูกค้าของบริษัทฯ เช่น ผู้ให้บริการมือถือ เป็นต้น บริษัทฯ มุ่งพัฒนาคุณภาพของบุคลากร และกระบวนการทำงานภายในบริษัทฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพบริการเพื่อส่งมอบการบริการที่ดีให้แก่ลูกค้า และรวมถึงผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นอีกด้วย โดยกลุ่มบริษัทฯ มีรายได้ และกำไรสุทธิสำหรับส่วนที่เป็นของผู้เป็นเจ้าของบริษัทใหญ่ในปี 2566 ทั้งสิ้น 2,759.94 ล้านบาท และ 272.11 ล้านบาท ตามลำดับ

สร้างการเติบโตผ่านกลยุทธ์การเติบโตทั้งแนบราบและแนวดิ่ง

บริษัทฯ มองการเติบโตผ่านการสร้างระบบนิเวศในบริษัทที่แข็งแกร่ง ผ่านการช่วยเหลือของบริษัทย่อยที่บริษัทฯได้เข้าซื้อกิจการ และบริษัทพันธมิตรที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Eco System) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันบนแนวคิดที่จะนำเอาบริการที่ดีที่สุดไปนำเสนอให้กับลูกค้า และรวมถึงการวางเป้าหมายเป็นผู้ให้บริการที่ลูกค้าไว้วางใจได้(One Stop Service) ผ่านโครงสร้างพื้นฐานใยแก้วนำแสงและศูนย์รับฝากข้อมูล และบุคลากรที่มีประสิทธิภาพของบริษัทฯ โดยเน้นการทำงานร่วมกันและเติบโตด้วยกัน โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ผลักดันบริษัทย่อยที่ลงทุนไว้ในปี พ.ศ. 2564 ดำเนินการ ยื่น Filing ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เพื่อขออนุมัติการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2566 อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้ขยายกิจการผ่านการซื้อกิจการ “บริษัท โกลบอล ลิโธทริปซี่ย์ เซอร์วิสเซส จำกัด” หรือ “GLS” ผู้ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่าย และให้บริการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อเดินหน้าสู่การให้บริการเทคโนโลยีทางการแพทย์ “Health Tech” อีกด้วย

มุ่งมั่นพัฒนาบริษัทฯ เพื่อยกระดับสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ด้วยปณิธานการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ชัดเจนและมุ่งมั่นสู่การ “เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน” เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ตลอดจนประเทศชาติและสังคมส่วนรวมได้อย่างยั่งยืนสืบไป ทำให้บริษัทฯ มีการวางแผนและปรับกลยุทธ์การดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาวะของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว โดยเน้นนำเอาเทคโนโลยีโทรคมนาคมเข้าไปช่วยเหลือ และเกื้อหนุนให้ทุกธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมสามารถข้ามผ่านวิกฤตดังกล่าวไปได้ และรวมถึงการวิจัยและพัฒนาและลงทุนในธุรกิจ อันจะช่วยต่อยอดให้บริษัทฯ เติบโตไปกับเทรนด์ของเทคโนโลยีสำคัญ ๆ ของโลก อาทิ 1. Big Data ซึ่งคือ การนำข้อมูล ที่มีปริมาณมาก ๆ มาผ่านการประมวลผล การวิเคราะห์ และแสดงผล ด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านการเงิน ข้อมูลการดำเนินงาน ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับบริการ ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากร รวมไปถึงข้อมูลที่ได้มีการจัดเก็บในระบบฐานข้อมูล ซึ่งจะมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนมากมายมหาศาล ทำให้ไม่สามารถใช้วิธีการจัดการทั่วไปได้อย่างมีคุณภาพ จึงต้องใช้แนวคิด Big Data ในการจัดการแทน 2. Social Listening ซึ่งคือการเก็บข้อมูลของผู้บริโภคที่อยู่บน Social Media เช่น Facebook, Instagram, Twitter และ YouTube เพื่อให้เราสามารถทราบได้ว่าใครกำลังพูดถึงสินค้า และบริการของแบรนด์เราบ้าง รวมทั้งสามารถทราบว่า พูดที่ไหน ใครเป็นผู้พูดผ่านคอมเมนต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลเพื่อให้เราสามารถรับฟังสิ่งที่ผู้บริโภคพูดบนโลกออนไลน์ได้ และนำมาวิเคราะห์เพื่อปรับกลยุทธ์ต่อไป 3. Drone and Anti-Drone ด้วยเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับที่พัฒนาไปอย่างมาก ทำให้มีการนำเอา อากาศยานไร้คนขับดังกล่าวมาใช้กับกิจกรรมที่มนุษย์เข้าถึงได้ยาก เช่น การสำรวจทางอากาศ หรือการตรวจดูพื้นที่ที่เป็นอันตรายเป็นต้น หรือการนำเอามาอำนวยความสะดวกเพื่อลดข้อจำกัดบางอย่าง เช่น โดรนส่งของ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจร เป็นต้น 4. CCTV Analytic ซึ่งคือการเอาข้อมูลภาพมาแปลผล และใช้ในการเฝ้าระวังหรือติดตามเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นการลดภาระหรือข้อจำกัดของมนุษย์ และใช้เทคโนโลยีมาทำให้เกิดความสะดวกสบายและแม่นยำมากขึ้น 5. Health Tech ซึ่งคือการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน ทำให้มีอายุที่ยืนยาวและแข็งแรงมากขึ้นโดยหลังจากเหตุการณ์ โควิด-19 ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต่างกลับมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและการพัฒนาไปสู่การมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น(Longevity) อีกทั้งบริษัทฯ ยังเล็งเห็นว่าเทคโนโลยีด้านนี้จะช่วยให้เกิดความเข้าถึงได้ของผู้ใช้งานในทุกพื้นที่ (Accessibility) อีกด้วย

บริหารงานและกำกับดูแลกิจการด้วยมาตรฐานระดับสากล

ด้วยการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการและทีมงานของบริษัทฯ ปี 2566 บริษัทฯ ได้รับผลการประเมินการกำกับดูแลกิจการในระดับ 5 ดาว “ดีเลิศ” ตามโครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนไทย (Corporate Governance Report of Thai Listed Company) ประจำปี 2566 จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors : IOD) ภายใต้การสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการได้รับการประเมินในระดับ 5 ดาว “ดีเลิศ” เป็นปีที่ 3 ติดต่อกันอีกด้วย

บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงการพัฒนาและการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยยึดหลัก “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals - SDGs) ทั้ง 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UN Thailand) จึงทำให้ บริษัทฯ ได้รับผลการประเมิน SET ESG Ratings 2566 ระดับ A หรือชื่อเดิม Thailand Sustainability Investment (THSI) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ซึ่งการประเมินนี้จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับการประเมิน AGM Checklist 100 คะแนนเต็ม ระดับดีเยี่ยม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากโครงการประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้รับรางวัล จากโครงการหนึ่งล้านกล้าความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน มูลนิธิเพื่อสังคมไทย โดยรางวัล “นักบริหารดีเด่นแห่งปี ประจำปี 2566” สาขา เทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม มอบให้แก่ ดร.ณัฐนัย อนันตรัมพร ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร ในฐานะ “บุคคล” ที่มีความรู้ความสามารถ มีวิธีปฏิบัติในการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย นำความก้าวหน้ามาสู่องค์กร ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของคุณงามความดี มีคุณธรรมจริยธรรม และรางวัล “นวัตกรรมดีเด่น ประจำปี 2566” (Best Innovation Award 2023) นวัตกรรม Anti Drone หรือระบบตรวจจับ และต่อต้านอากาศยานไร้คนขับ โดยได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิว่าเป็นแนวคิดที่ต่อยอด และใช้ประโยชน์ จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยอาศัยความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น สามารถช่วยสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจได้ อีกทั้งยังเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน จึงมีความเหมาะสมที่จะได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อสังคมและสาธารณชนสืบไป

บริษัทฯ ได้รับรางวัล Asia Pacific Enterprise Awards (APEA) 2023 โดย Enterprise Asia องค์กรอิสระที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการชั้นนำทั่วภูมิภาคเอเชีย ในสาขา Inspiration Brand ประเภทธุรกิจ Telecommunications & ICT โดยรางวัลนี้มอบให้แก่องค์กรที่เป็นแบบอย่างอันดี มีประสิทธิภาพอันโดดเด่นที่ได้แสดงความเป็นเลิศทางธุรกิจในอุตสาหกรรม และมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นตัวแทนผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ธุรกิจอื่น ๆ ทั่วโลก และด้วยการกำกับดูแลกิจการของคณะกรรมการและทีมงานของบริษัทอย่างเต็มกำลังในปี 2566 นั้น บริษัทฯ ได้รับการรับรองจากสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ประจำปี 2566 ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 โดยการรับรองดังกล่าวจะมีอายุ 3 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงหลักบรรษัทภิบาล ซื่อสัตย์ โปร่งใส และต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ รวมถึงข้อกำหนดในการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน และสร้างการ เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน ดังปณิธานการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

ก้าวเป็นผู้นำในบริการด้านการเชื่อมต่อข้อมูลและศูนย์รับฝากข้อมูล (Data Center)

กลุ่มบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการ “เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน” ส่งให้ผลประกอบการในปี 2566 ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 2,759.94 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 19.72 จากปี 2565 ซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการให้บริการ 3 รูปแบบ ได้แก่ รายได้จากการให้บริการโครงข่าย ที่มียอดรายได้จำนวน 1,466.32 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.87 ในขณะที่รายได้จากการให้บริการพื้นที่ดาต้า เซ็นเตอร์ และรายได้จากการให้บริการติดตั้งโครงข่ายมียอดรายได้จำนวน 92.77 ล้านบาท และ 1,154.49 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.21 และลดลงร้อยละ 42.12 ตามลำดับ

โดยกลุ่มบริษัทฯ ยังเน้นเรื่องการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทำให้กลุ่มบริษัทฯ มี EBITDA อยู่ที่ 932.03 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 9.17 และคิดเป็นอัตรา EBITDA ร้อยละ 33.77 ของรายได้รวมและมีกำไรสุทธิจำนวน 298.21 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.16 และคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิร้อยละ 10.80 โดยอัตรา EBITDA และอัตรากำไรสุทธิปี 2566 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 อีกทั้งในปี 2566 นั้น กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รอการรับรู้ (Backlog) อยู่ที่ 2,769.85 ล้านบาท

ซึ่งความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความทุ่มเทของบริษัทฯ ที่จะบริหารงานและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ไม่ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร โดยคำนึงถึงผู้ถือหุ้น พันธมิตร คู่ค้า สังคม ประเทศและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มไปควบคู่กับผลประกอบการของบริษัทฯ

ในโอกาสนี้ “เรา”ขอขอบคุณท่านผู้ถือหุ้น พันธมิตรทางธุรกิจที่ให้ความไว้วางใจและสนับสนุนบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง และขอขอบคุณผู้บริหารและพนักงานของบริษัทฯ ทุก ๆ ท่าน ที่ได้ร่วมมือกันปฏิบัติงานด้วยความวิริยะ อุตสาหะ จนทำให้บริษัทฯสามารถก้าวข้ามช่วงเวลาที่ท้าทายและไม่เคยมีใครประสบมาก่อนได้ในระดับที่น่าพอใจมากและผมมั่นใจว่าด้วยศักยภาพของบุคลากรของบริษัทฯ กลยุทธ์ในการผลักดันให้เกิดการเติบโตของบริษัทฯ จะทำให้บริษัทฯ สามารถข้ามผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตของไวรัสโควิด-19 ไปได้ และยังสามารถสร้างการ “เติบโต ต่อเนื่อง และยั่งยืน” เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นลูกค้า และผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด ตลอดจนประเทศชาติ และสังคมส่วนรวมได้อย่างยั่งยืนสืบไป

นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา
ประธานกรรมการ